Last updated: 9 พ.ย. 2565 | 1490 จำนวนผู้เข้าชม |
สวัสดีครับ Pearl Lovers ทุกท่าน วันนี้พี่พรายขอนำเสนอสาระน่ารู้เกี่ยวกับริ้วรอยบนไข่มุก สิ่งอันไม่พึงประสงค์และไม่พึงปรารถนาของคนรักไข่มุกทั้งหลาย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปติดตามได้เลยครับ
เมื่อพูดถึงตำหนิบนไข่มุก (Blemish) หลายๆท่านคงนึกถึงริ้วรอยและความไม่สมบูรณ์แบบ (Flaw) ต่างๆ ที่อยู่บนพื้นผิว (Surface) ของไข่มุก ซึ่งริ้วรอยเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือที่เรามักจากได้ยินคำพูดที่ว่า “ธรรมชาติรังสรรค์” แต่บางครั้งริ้วรอยต่างๆ อาจเกิดจากตัวผู้สวมใส่เอง เช่น การทำไข่มุกตกลงพื้น (แข็งๆ) หรือการที่น้องมุกสัมผัสกับสารเคมีหรือสารกัดกร่อนโดยตรง เช่น น้ำหอม, โลชั่นหรือแฮลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งการเก็บรักษาไข่มุกที่ผิดวิธี (ใส่รวมในกระเป๋ากับกุญแจรถ) สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เสี่ยงต่อการเกิดริ้วรอยบนเม็ดมุกแทบทั้งสิ้น และแน่นอนริ้วรอยต่างๆ นั้นก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์แบบ (Imperfection) ของไข่มุก ซึ่งย่อมลดทอนมูลค่าของไข่มุกแสนรักของท่านลงได้อย่างน่าใจหาย
จริงๆแล้วถ้าจะพูดถึงริ้วรอยธรรมชาติของไข่มุก ที่ติดตัวมุกมาตั้งแต่กำเนิด (ถ้าเป็นคนก็เปรียบได้กับ ปาน ไฝ อะไรประมาณนั้นนะครับ ฮา...) ก็ใช่ว่าจะลดทอนมูลค่าของไข่มุกเสียทีเดียว อาทิเช่น รอยยับย่นของไข่มุก Ripple Pearl รอยเกลียวคลื่น (Circle) บนไข่มุกตาฮิติ กลับดูแปลกตาและน่าหลงไหลเอามากๆ
แล้วริ้วรอยแบบไหนกันที่จะลดทอนมูลค่าของไข่มุกสุดรักสุดหวงของท่านลงกันหละ? เดี๋ยวพี่พรายจะขออนุญาตแจกแจงให้ฟังดังนี้ครับ
1 รอยขีดข่วน (Scratches)
แค่เห็นภาพก็ใจสลายแล้วใช่ไหมครับ... ยิ่งถ้ารอยขีดข่วนเป็นรอยลึก แล้วเกิดกับ South Sea ราคาแพงที่เพิ่งซื้อมา คงทำใจลำบากเอามากๆ ปกติรอยขีดข่วนบนเม็ดมุกนั้น สามารถสังเกตุเห็นได้ง่าย โดยปกติจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้ที่ชื่นชอบการสวมใส่แหวนไข่มุก เนื่องจากลักษณะของไข่มุกมีส่วนนูนคล้ายโดม (Dome) จึงทำให้ยากต่อการหลีกเลี่ยงการขีดข่วน สาเหตุอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้น้องมุกเกิดรอยขีดข่วนคือการเก็บเครื่องประดับมุกรวมกับของใช้อื่นๆ เช่น ถอดต่างหูไข่มุกไว้ในกระเป๋ารวมกับพวงกุญแจ เป็นต้น หากผิวมุกมีรอยขีดข่วนเพียงเล็กน้อย ก็พอจะแก้ไขได้ด้วยวิธีการขัดผิว (Buffing) เพื่อลบรอยออกได้ (แต่ต้องทำโดยช่างผู้ชำนาญการเท่านั้นนะครับ) แต่ถ้าเป็นรอยขีดข่วนที่เป็นร่องลึกแล้วละก็... คงได้แต่เสียดายและต้องทำใจหนักมาก...ฮือๆๆ
2 รอยแตกร้าว (Cracks)
จินตนาการว่าถ้าท่านนำไข่มุกราคาสุดแพงออกมาจากตูนิรภัยที่เก็บซ่อนไว้อย่างดีในตู้เสื้อผ้าเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อนำมาเป็นของขวัญให้กับว่าที่ลูกสะใภ้ในวันแต่งงาน ของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของท่าน แล้วเจอสภาพไข่มุกอย่างที่เห็น ... ท่านคงร้องอุทานออกมาว่า โอ้อกอีแป้นจะแตก!! ..แน่ๆ
โดยปกติการแตกร้าวของไข่มุกจะรุนแรงกว่ารอยขีดข่วนเนื่องจาก การแตกร้าวนั้นไม่ได้เกิดบนพื้นผิวของไข่มุก แต่เกิดที่ชั้น Nacre หรือที่บีดนิวเคลียส (Bead Nucleus) ซึ่งท่านสามารถสังเกตุได้ด้วยตาเปล่าครับ ถ้าการแตกร้าวเกิดภายในไข่มุก ท่านจะเห็นรอยแตกเป็นเส้นคล้ายๆ กับเส้นผมที่ติดอยู่ภายในเม็ดมุก เอานิ้วมือลูบก็ไม่ออก โดยสาเหตุแห่งการเกิดรอยร้าวนั้น อาจเกิดจากการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงของเม็ดมุก เช่นตกจากที่สูงมาก โดนกดทับด้วยสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และอีกสาเหตุหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการเก็บรักษา กล่าวคือการเก็บรักษาไข่มุกควรเก็บไว้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท และหมั่นนำน้องมุกมาสวมใส่ เนื่องจากชั้นผิวของไข่มุกต้องการความชุ่มชื้น (Moisturizer) เพียงเล็กน้อยเพื่อให้ชั้นผิวมีความยืดหยุ่น (Flexible) การเก็บไข่มุกไว้ในที่ที่แห้ง อับ และมีอุณหภูมิสูง เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ชั้นผิวของไข่มุกมีความแห้งและตึงผิว จนเกิดรอยแตกร้าวได้ และแน่นอนว่าการแตกร้าวของไข่มุกนั้นส่งผลต่อความแข็งแรงและคงทน (Durability) รวมทั้งลดทอนมูลค่าของไข่มุกลงอย่างมากมาย
3 รอยหมอง ( Dull Spots)
รอยหมองหรือจุดหมองคล้ำบนเม็ดมุก คือจุดที่ด้อย Luster หรือจุดหม่น Luster บนเม็ดมุกนั่นเอง จะสังเกตุว่าจุดดังกล่าวนั้น จะมีความแวววาบน้อยกว่าจุดอื่นๆ บนเม็ดมุก ซึ่งสาเหตุหลักๆของการเกิดจุดหมองคล้ำนั้น คือการที่เม็ดมุกสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง หรือสะสมเป็นระยะเวลานาน อันเนื่องมาจากชั้น Nacre ของไข่มุกเป็นสารประกอบ แคลเซียมคาบอร์เนต ที่เรียงตัวเป็นผลึกใส ซ้อนทับกันนั้น มีความไวต่อสารกัดกร่อนเป็นอย่างมาก เช่น การฉีดน้ำหอมลงบนเครื่องประดับมุกโดยตรง ซึ่งน้ำหอมนั้นมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบหลัก (แอลกอฮอล์จัดว่าเป็นเคมีที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนชนิดหนึ่ง) หรือการทาโลชั่นบำรุงผิวลงบนแขนโดยที่ยังสวมใส่ไข่มุกบนข้อมือ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อความเงางามของไข่มุกในระยะยาวแทบทั้งสิ้น
วิธีการง่ายที่สุดในการหลีกเลี่ยงเคมีที่เป็นอันตรายต่อน้องมุกเมื่อต้องการสวมใส่น้องมุก คือใช้หลักการ LIFO (Last In First Out) กล่าวคือให้ท่านแต่งตัวให้เสร็จเรียบร้อย ฉีดพรมน้ำหอมให้เสร็จสรรพก่อน แล้วค่อยสวมใส่ไข่มุกเป็นลำดับสุดท้ายสุด (Last In) และ First Out คือพอกลับถึงบ้านก็ให้ถอดน้องมุกออกก่อนเป็นลำดับแรก แล้วค่อยจัดการกับเครื่องประดับอย่างอื่นและเสื้อผ้า หากท่านต้องการใช้ Cleansing เช็ดเครื่องสำอางค์ออก ก็จัดไปได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องมาพะว้าพะวัง ห่วงหน้าพะวงหลังว่าน้องมุกสุดสวยจะโดนสารเคมีหรือไม่
4. รอยบุ๋ม (Dimples)
รอยบุ๋มบนเม็ดมุกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการเพาะเลี้ยงหอยมุก โดยรอยบุ๋มนั้นจะเกิดขึ้นในการเพาะเลี้ยงแบบใช้เนื้อเยื่อเป็นนิวเคลียส (Mantle Tissue) มากกว่าการใช้เม็ดบีดเป็นนิวเคลียส (Bead Nucleus) อันเนื่องมาจากความไม่คงตัวของเนื้อเยื่อนั่นเอง ที่ทำให้เกิดรอยบุ๋ม คล้ายๆหลุมยุบนเม็ดมุก เม็ดมุกที่มีรอยบุ๋มแค่ด้านเดียว ผู้ผลิตเครื่องประดับ อาจจะใช้ตัวเรือนปกปิดรอยดังกล่าวได้ โดยจะให้ผิวมุกด้านที่สวยงามหันออกด้านหน้าแทน แต่เม็ดมุกที่มีรอยบุ๋มเป็นกลุ่ม (Batch) ก็ยากมากที่จะส่งเสริมมูลค่าหรือนำมาออกแบบเครื่องประดับได้
5. หลุมหรือจุด (Pits and Pinpoints)
ริ้วรอยที่เป็นหลุมหรือจุดเล็กๆ บนไข่มุกน่าจะเป็นริ้วรอยที่คุณลูกค้าคุ้นตาที่สุด และเป็นที่ยอมรับได้ในตลาดซื้อขายไข่มุกและวงการเครื่องประดับทั่วโลก แต่รอยหลุมลึกหรือจุดเล็กๆนั้นพบได้มากในไข่มุกที่มีรูปทรงบารอก โดยมากเราจะละไว้ในฐานที่เข้าใจร่วมกันว่า มันคือรอยธรรมชาติ และเป็นธรรมดาของไข่มุกทรงนี้ที่จะต้องมีหลุม มีรอย มีจุดบ้าง แต่ถ้าหลุมหรือจุดเล็กๆเหล่านี้เกิดขึ้นบนผิวของไข่มุกทรงกลมล่ะ! หากมีเพียงเล็กน้อยแค่2-3 รอยและเป็นหลุมตื้นๆ ก็พอทำใจยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นหลุมลึก หรือมีจุดปรุกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ของเม็ดมุกแล้วละก็ ในจรรยาบรรณของคนขายไข่มุก ก็อาจจะต้องแจกแจงรายละเอียด และทำความเข้าใจกับผู้ซื้อเสียก่อนนะครับ ไม่งั้นปัญหาใหญ่จะตามมาแน่ๆครับ
6. รอยหลุดล่อนของผิวไข่มุก (Chips, Gaps and Patches of Missing Nacre)
การหลุดล่อนของผิวมุกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับไข่มุกทุกขนาด ทุกสายพันธ์ุ ที่มีชั้น Nacre ค่อนข้างบางครับ การหลุดล่อนคือการที่ชั้น Nacre ของไข่มุกหลุดหายไปทั้งแผ่น เผยให้เห็นชั้นผิวด้านล่างอย่างชัดเจน ถ้าเจอแบบนี้... ก็เอาไปประดับตู้ปลาอย่างเดียวครับ ดังนั้นผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องตรวจสอบความหนาของชั้น Nacre (Nacre Thickness) กับผู้ขายเสียก่อนนะครับ เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดกับตัวท่าน เดี๋ยวคราวหน้าพี่พรายจะเอาวิธีการตรวจสอบความหนาของชั้น Nacre เบื้องต้นโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มานำเสนอให้ลูกค้าได้รับทราบนะครับ
7. สีตก/สีด่าง (Discloration)
หลายๆท่านคงไม่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือเคยประสบพบเจือกับไข่มุกสีตกสักเท่าไหร่ เพราะอะไรเหรอครับ? ก็เพราะว่ารอยด่างดำนั้นจะถูกกำจัดออกตั้งแต่ต้นทางการผลิตไข่มุกแล้วครับ โดยร้อยละ 90 ของไข่มุก Akoya จะผ่านกระบวนการฟอกสี (Beaching) เพื่อให้ได้ไข่มุกที่มีสีและ Lusterใกล้เคียงกันมากที่สุด (Uniform) ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมไข่มุก Akoya ที่มีสีและ Luster เท่ากันทั้งเส้นนั่นเองครับ อนึ่งอุบัติการการเกิดสีด่างสีตกบนผิวมุกนั้น เกิดจากความเข้มข้นของ Conchiolin ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ Cristaline Aragonite ในแต่ละชั้นผิวของเม็ดมุกไม่เท่ากันนั่นเอง
8. รอยปูดโปนและรอยตะเข็บ (Bump and Welt)
รอยปูดโปนนั้น คือพื้นผิวที่ยกตัวสูงขึ้นบนชั้นผิวของเม็ดมุก หากพื้นที่ส่วนนั้นมีขนาดใหญ่กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของเม็ดมุก จะทำให้เม็ดมุกเม็ดนั้นจัดอยู่ในทรงเกือบกลม (Off-round Shape) และบางครั้งที่พื้นที่ที่ยกตัวสูงขึ้นสูงนั้น มีรอยย่นอย่างเด่นชัดและพาดตัวยาวไปบนเม็ดมุก (มีลักษณะคล้ายกับเทือกเขา) ซึ่งเรามักเรียกกันว่ารอยตะเข็บมุก (Welt) นั่นเอง ไข่มุกที่มีรอยปูดโปนหรือรอยตะเข็บก็สามารถนำมา Design เป็นเครื่องประดับได้หลากหลายและสวยงามแปลกตา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร ส่วนมูลค่าก็เป็นไปตามความพึงพอใจของผู้ซื้ออีกนั่นแหละครับ
เอาละครับ คราวนี้พี่พรายคิดว่าลูกค้าทั้งหลายคงได้ความรู้ไปไม่มากก็น้อย อย่างไรก็แล้วแต่ ไข่มุกแต่ละเม็ดนั้นมีลักษณะ และมีความงามตามธรรมชาติเฉพาะตัว การรู้จักลักษณะและธรรมชาติของไข่มุกในภาพรวมนั้น จะทำให้ลูกค้าเข้าใจผลิตภัณฑ์ของผู้ขายได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถเก็บรักษาไข่มุกได้อย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้น้องมุกนำความงามมาสู่ตัวท่าน และผู้สวมใส่ได้นานเท่านาน
หากคิดว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ช่วยกด Like และช่วยแชร์ให้พี่พรายด้วยนะครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
พี่พราย PAKASIA ซื้อผลิตภัณฑ์ไข่มุกคุณภาพสูง ราคาดี๊ดี บริการหลังการขายยอดเยี่ยมต้องซื้อที่ PAKASIA เท่านั้นนะครับ www.pakasiapearl.com
9 พ.ย. 2565