Last updated: 9 พ.ย. 2565 | 1610 จำนวนผู้เข้าชม |
ต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว ที่พี่พรายได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการดูและเก็บรักษาไข่มุกไปแล้วนั้น วันนี้เลยจะมานำเสนอตัวช่วยในการถนอมรักษาวัสดุตัวเรือนเครื่องประดับไข่มุกของท่าน ให้ดูสวยงาม เหมือนใหม่ และพร้อมใช้อยู่เสมอบ้างครับ เผื่อว่าจะเป็นแนวทางให้ท่านได้เก็บรักษาไข่มุกควบคู่กับการถนอมตัวเรือนไปพร้อมๆกัน ด้วยอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Anti Tarnish Paper (ATP) หรือที่เรียกว่า “แผ่นกันดำ“ นั่นเองครับ
Anti Tanish Paper (ATP) หรือแผ่นกันดำนั้นลักษณะจะเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ สีดำ โดยมักจะติดมากับบรรจุภัณฑ์เครื่องประดับที่ท่านซื้อมา ตัวแผ่นฟิล์มจะช่วยดูดซับซัลไฟด์และสิ่งสกปรกในอากาศ ที่เป็นสาเหตุให้ตัวเรือนดำและหมองคล้ำครับ
แผ่น ATP สามารถป้องกันความหมองคล้ำของวัสดุตัวเรือนเครื่องประดับ เครื่องดนตรี ฯลฯ ที่ทำมาจากทอง เงิน ตะกั่ว ทองแดง บรอนซ์ หรือแม้กระทั่งวัสดุที่ผ่านการชุบโลหะ เช่น ตัวเรือนเครื่องประดับไข่มุก เป็นต้น
วิธีการใช้แผ่น ATP นั้นก็ง่ายแสนง่ายครับ เพียงวางแผ่น ATP ไว้ใกล้ๆกับวัสดุตัวเรือนหรือชิ้นงาน (แผ่น ATP ที่ใช้ต้องมีขนาดพอเหมาะกับขนาดชิ้นงานด้วยครับ) โดยต้องวางแผ่น ATP และชิ้นงานไว้ในพื้นที่ที่มีการจำกัดอากาศ เช่น ถุงซิปล็อก กล่องกันอากาศ หรือถุงสูญญากาศ เป็นต้น ยิ่งเราสามารถจำกัดอากาศในพื้นที่เก็บรักษาตัวเรือนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งจะทำให้แผ่น ATP ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเท่านั้นครับ
แผ่น ATP ขนาด 7 x 2 นิ้ว สามารถกันการหมองคล้ำของวัสดุตัวเรือนหรือชิ้นงาน ในพื้นที่ประมาณ 1 ลูกบาศก์ฟุต เป็นระยะเวลา 6 เดือนครับ แผ่น ATP นั้น ทำมาจากวัสดุที่ปลอดสารพิษ ไร้กลิ่นและไม่มีสารตกค้างใดๆ ดังนั้นโปรดอย่าทิ้งแผ่น ATP ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์นะครับ เพื่อยืดอายุให้วัสดุตัวเรือนเครื่องประดับของท่าน ยังคงความเงางาม ดูเหมือนใหม่อยู่เสมอครับ
แผ่น ATP นั้นมีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือนครับทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น มลพิษ และความจำกัดของอากาศในพื้นที่ที่เก็บรักษาชิ้นงานด้วยครับ หากท่านพบว่าวัสดุตัวเรือนหรือชิ้นงานที่เก็บรักษาไว้ เริ่มดำและหมองคล้ำให้นำวัสดุตัวเรือนหรือชิ้นงานนั้นไปทำความสะอาดเสียก่อน แล้วจึงนำแผ่น ATP แผ่นใหม่ใส่ควบคู่ไปกับชิ้นงาน ก่อนนำไปเก็บรักษาต่อไปครับ
แผ่น ATP ไม่สามารถขจัดความหมองคล้ำออกจากตัวเรือนเครื่องประดับได้ครับ ดังนั้นการวางแผ่น ATP ใกล้ๆกับวัสดุตัวเรือนที่ดำหรือหมองคล้ำ จึงไม่สามารถทำให้ตัวเรือนนั้น กลับมาใส สะอาด ดูเหมือนใหม่ได้อีกครั้งครับ
เอาละครับ หวังว่าสาระน่ารู้ที่พี่พรายนำมาฝากในวันนี้จะถูกใจท่านลูกค้าทั้งหลายของ PAKASIA นะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ ช่วยกด Like กด Share ให้พี่พรายด้วยนะครับ ถ้าท่านมีข้อสงสัยประการใดสอบถามพี่พรายเข้ามาได้นะครับ ตามช่องทางดังนี้ครับ
9 พ.ย. 2565