Last updated: 9 พ.ย. 2565 | 962 จำนวนผู้เข้าชม |
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน สืบเนื่องจากวันก่อนคุณส้ม Pearl Lovers กิตติมศักดิ์ ของทางร้านได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับ ไข่มุก Akoya สีชมพู ที่ใช้ Red Coral หรือปะการังแดงเป็นแกนภายใน ซึ่งทำให้พี่พราย (ผู้อับจนไอเดียในการเขียนบทความเกี่ยวกับไข่มุก) เหมือนได้ฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง เพราะมีเรื่องมาขยายต่อให้ทุกท่านได้อ่านกันอีกแล้วครับ ถ้าหากพี่พรายผิดพลาดประการใดรบกวนคุณส้มช่วยติชมและชี้แนะพี่พรายด้วยนะครับ
“Sango Pearl” หรือไข่มุก Akoya สีชมพูนั้น จริงๆแล้วเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางกว่าหนึ่งทศวรรษแล้วครับ ด้วยเทคนิคและวิธีการเลี้ยงไข่มุกแบบพิเศษ ของบริษัท Matsumoto Pearl ประเทศญี่ปุ่น โดยการนำเอาปะการังแดง (Red Coral) มาทำเป็นบีด นิวเคลียส (Bead Nucleus) และฝังเข้าไปในแม่หอยสายพันธุ์ Pinctada Fucata แทนที่จะใช้บีด นิวเคลียส ที่ทำจากเปลือกหอยน้ำจืด อย่างที่ฟาร์มไข่มุกทั่วๆไปเขาทำๆกัน ผลที่ได้คือไข่มุก Akoya ที่มี Body Color สีชมพูสดและสวยงามมากๆครับ
คำว่า “Sango” ในภาษาญี่ปุ่นนั้นแปลว่า ปะการัง โดยปะการังแดง ที่นำมาทำเป็นเม็ดบีดนั้น คือปะการัง ชนิด Corallium ซึ่งจัดว่าเป็นอัญมณีอินทรีย์ อีกประเภทหนึ่ง (Precious Coral) ซึ่งนับว่าหายากและมีราคาสูง อีกทั้งยังเป็นที่นิยมในท้องตลาดเครื่องประดับอีกด้วยครับ โดยปะการังชนิดนี้ สามารถหาได้ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งแหล่งสำคัญคือรอบๆ ชายฝั่งทางใต้ของจังหวัด Kochi ประเทศญี่ปุ่นนั่นเองครับ
นับว่าบริษัท Matsumoto Pearls นั้นประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเอาอัญมณีอินทรีย์ทั้งสองชนิด (ไข่มุกและปะการัง) มาผนวกรวมเข้าด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียว กลายเป็นไข่มุกที่มีสีชมพู อันมีค่าสวยงามแลดูแปลกตา เป็นอย่างยิ่งครับ
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องบีด นิวเคลียส ก็ขอท้าวความหลังเกี่ยวกับความเป็นมาของบีด นิวเคลียสกันสักนิดนะครับ ย้อนกลับไปในสมัยที่ท่าน มิกิโมโต (Kokichi Mikimoto) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งไข่มุกเลี้ยง” รู้ว่าหอย Akoya นั้นสามารถผลิตไข่มุกชั้นเลิศได้ ท่านก็พยายามทุกวิถีทางในการแสวงหาหนทางที่จะจำลองการก่อรูปของไข่มุก ด้วยวิธีการให้แม่หอย ปล่อยเนเคอร์ (Nacre) ห่อหุ้มแกนกลางที่ถูกฝังเข้าไปในตัวหอยให้จงได้
ในช่วงต้นปี 1888 ท่านมิกิโมโต ได้พยายามอย่างหนักในการทดลองเลี้ยงไข่มุกด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ รวมถึงการคัดสรรวัสดุที่น่าจะใช้เป็นแกนกลางในการเลี้ยงไข่มุกได้ เช่น วัสดุทองแท้ เงินแท้ พลาสติก เซรามิค ปะการัง หรือแม้แต่เม็ดมุก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่ดีเพียงพอสำหรับการทำตลาดในเชิงพาณิชย์ได้
สุดท้ายความพยามอย่างหนักก็ตอบแทนท่านมิกิโมโตจนได้ ผลสำเร็จจากการที่หอย Akoya ตอบสนองต่อเม็ดบีด นิวเคลียสที่ทำมาจากเปลือกหอยน้ำจืด Mississippi River ที่นำเข้าจากประเทศอเมริกานั้น ให้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด แม่หอยปล่อยเนเคอร์ ห่อหุ้มเม็ดบีด อย่างดีเยี่ยม ผลผลิตที่ได้คือไข่มุก Akoya แสนสวย คุณภาพสูงนั่นเองครับ
ในปี 1898 ท่านมิกิโมโต เปิดร้านขายไข่มุกเล็กๆในย่านกินซะ (Ginza) กรุงโตเกียว ด้วยความงามของไข่มุกคุณภาพสูง เพียงไม่กี่ปีให้หลัง (ค.ศ. 1913) ความสำเร็จก็พุ่งชน แบรนด์มิกิโมโต (Mikimoto) อย่างท่วมท้น ปัจจุบัน แบรนด์ มิกิโมโต คือตัวแทนของไข่มุกคุณภาพสูง สุดหรูหรา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกครับ
แถมท้ายอีกนิดนะครับ ว่าเอาปะการังแดง มาทำเป็นเม็ดบีด นิวเคลียส ว่าแปลกแล้ว แต่ ไข่มุกที่ถูกขนานนามว่า “แปลกและมีเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุดในโลก” กลับไม่ใช่ Sango Pearl แต่อย่างใด กลับเป็น “Galatea Pearl” ที่ผลิตโดย Galatea: Jewellery by Artist (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ San Dimas, California, USA) ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงไข่มุกโดยใช้อัญมณีต่างๆ เช่น พลอยแท้ เพชรแท้ และอัญมณีชนิดต่างๆ เป็นเม็ดบีด นิวเคลียส ฝังลงไปในแม่หอย ภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน จะนำไข่มุกมาแกะสลักด้วยมือ เผยให้เห็นความงามของอัญมณีที่ซ่อนอยู่ภายในเม็ดมุก Galatea Pearl จึงนับได้ว่าเป็นไข่มุกที่สวยงาม แปลกตา และโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และน่าทึ่งที่สุดเหนือกว่าไข่มุกใดๆทั่วทั้งโลกใบนี้เลยครับ
เอาละครับ หวังว่าสาระน่ารู้ที่พี่พรายนำมาฝากในวันนี้จะถูกใจบรรดา Pearl Lovers ทั้งหลายของ PAKASIA นะครับ ถ้าเห็นว่าบทความนี้ดีมีประโยชน์ ช่วยกด Like กด Share ให้พี่พรายด้วยนะครับ ถ้าท่านมีข้อสงสัยประการใดสอบถามพี่พรายเข้ามาได้นะครับ ตามช่องทางดังนี้ครับ
9 พ.ย. 2565